วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2553
เก้าอี้ยางพารา,,,สุดยอด !!! หัวคิดคนไทย
ประเทศไทยมีสวนยางพารามากมายทั้งในภาคใต้และภาคตะวันออก ผู้ประกอบการส่วนมากส่งออกผลผลิตยางพาราในฐานะน้ำยางแผ่นแปรรูป แต่คุณนพชัย ภู่จิรเกษม ลูกหลานเจ้าของสวนยางจังหวัดตรังรายนี้กลับคิดต่างไป เขาเล็งเห็นช่องทางที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งความยืดหยุ่นขึ้นเอง เมื่อคุณนพชัยมาเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เขาเลือกวัสดุยางพาราขึ้นมาศึกษาเพราะเป็นสิ่งใกล้ตัวที่เขาคลุกคลีมาแต่เด็ก เขาวิจัยวัสดุตัวนี้อยู่ 3 ปี ซึ่งในระหว่างนั้นก็ได้รับรางวัลเรื่อยมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เขาได้รางวัล Innovation Award จากการออกแบบโดยใช้วัสดุชนิดนี้ และได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ต่อมาในปี ค.ศ. 2006 ก็ได้รางวัลจากแมกกาซีน I – design มาในปีนี้เขาเพิ่งได้รับรางวัล Design Innovation Contest ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติอีกครั้งและปิดท้ายด้วยรางวัล Designer of the Year ของกรมศิลปากร
จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมลูกยาง คุณนพชัยเริ่มต้นทำงานนี้เพราะอยากให้คนทั่วไปเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการเพิ่มมูลค่าวัสดุที่มีอยู่ สำหรับงานเฟอร์-นิเจอร์ ลูกยางจากน้ำยางพารานี้ แนวคิดหลักของมันก็คือ “ความยืดหยุ่น” ในหลากหลายมิติ ไม่ใช่แค่ความยืดหยุ่นในตัววัสดุเพียงอย่างเดียว แต่รวมเอาความยืดหยุ่นของวิถีชีวิต และวิธีการแก้ปัญหาด้วยความยืดหยุ่นเข้าไปด้วยเขามองว่าในปัจจุบัน มนุษย์สร้างทรัพยากรใหม่ขึ้นไม่ได้แล้ว ดังนั้นจึงต้องสร้างวัสดุที่รักษาทรัพยากรที่มีอยู่ “การตัดป่าเพื่อให้ได้มาซึ่งวัสดุไม้ถือเป็นความสูญเสียเพราะการปลูกป่าใหม่ย่อมไม่ทันต่อการตัดอยู่แล้ว ไม้เศรษฐกิจต้องใช้พลังงานในการแปรรูป ซึ่งก็เป็นการสูญเสียอีกต่อ ส่วนกรณีของน้ำยางพารา เราไม่ได้ตัดไม้แต่เรากรีดยางออกจากต้น ซึ่งถ้าต่อไปเราใช้วัสดุตัวนี้มากขึ้นๆ แล้วต้นยางมีไม่พอ สิ่งที่เกิดตามมาคือเราก็ต้องทำสวนยางเพิ่ม
กลายเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้นไปในตัว ผมมองวัสดุนี้ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำครับ”
สิ่งที่ค้นหาและสิ่งที่ได้มาจากงานวิจัยคุณนพชัยเล่าให้ฟังต่อว่า ในช่วงที่ทำวิจัยน้ำยาง เขาค้นคว้าหาวิธีที่จะทำให้ยางคงรูปได้โดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งในที่สุดก็สำเร็จสามารถทำให้วัสดุยางคงทนได้ที่ 5 ปี ส่วนเรื่องสีหากใช้งานภายนอก ยางย่อมมีโอกาสซีดลง แต่ไม่เกิน 10 % โดยทั่วไปจะรับน้ำหนักได้ราว 100 กิโลกรัม (มากที่สุด 150 กิโลกรัม) และยังมีแบบพิเศษที่รองรับน้ำหนักได้ถึง 200กิโลกรัมด้วยส่วนถ้าจะเติมกลิ่นหอมก็สามารถทำได้
จากนวัตกรรมสู่งานออกแบบหลังจากฝังตัวเองอยู่กับงานวิจัยเพื่อพัฒนาให้วัสดุนี้มีความเสถียรเพียงพอในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ คุณนพชัยก็เปิดตัวเฟอร์นิเจอร์ยางพาราขึ้นในปี ค.ศ. 2008 ภายใต้ชื่อ “ลูกยางดีไซน์” (www.lookyangdesign.com)
โดยคอลเล็กชั่นแรกของเขาคือ เก้าอี้ลูกยางที่ประยุกต์รูปทรงมาจากลูกยางจริงๆ และเก้าอี้รุ่น Spider, Webberและตอยาง ที่เน้นยางพาราเป็นตัวรับน้ำหนัก และให้ความยืดหยุ่นอยู่บนโครงสร้างสแตนเลสไม่นานเก้าอี้เหล่านี้ก็กลายเป็นดาวเด่นของวงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ทั้งในงานแสดงและตามหน้านิตยสาร
แนวคิดหลักของลูกยางดีไซน์ ด้วยแนวคิดหลักคือความยืดหยุ่น คุณนพชัยเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่แสดงและใช้ความยืดหยุ่นอย่างชัดเจน อาทิ เก้าอี้ ที่ขายความยืดหยุ่นเต็มที่ เมื่อนั่งแล้วสามารถปรับเปลี่ยนไปตามสรีระของผู้นั่งหรือของแต่งบ้านอื่นๆที่สามารถยืดได้ในองศาที่อิสระ
สร้างแบรนด์ ลุยตลาด คุณนพชัยยอมรับว่า ตนยังมีประสบการณ์ด้านการตลาดน้อย เพราะเดิมขลุกอยู่แต่กับงานวิจัยและออกแบบ“ก็ต้องเรียนรู้กันไปครับ แต่โชคดีที่สินค้านี้ได้รับรางวัลต่างๆ มามาก รวมถึงมีความสะดุดตา ทั้งในด้านดีไซน์และการใช้วัสดุที่แปลกใหม่ ตอนนี้ผมมีกลุ่มลูกค้าอยู่แถวสแกนดิเนเวีย และกำลังขยายตลาดเพิ่มไปทางดูไบกับตุรกีด้วยผมจะเจาะตลาดที่มีลักษณะเฉพาะ (Niche market) ไม่ใช่ตลาดแมสครับเพราะจุดขายของเราชัดที่น้ำยางธรรมชาติ ไม่มีสารเคมี“ในส่วนของการออกคอลเล็กชั่นใหม่และเพิ่มไลน์สินค้า คุณนพชัยบอกว่าตอนนี้เขาลุยเต็มที่ เพราะประสิทธิภาพของวัสดุยางพาราทำมาได้ถึงจุดที่น่าพอใจแล้ว เขาได้เตรียมออกแบบเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านชุดใหม่ไว้สำหรับปีหน้าเป็นที่เรียบร้อย รอแค่เข้าไลน์ผลิตจริงเท่านั้น“วัสดุตัวนี้มีศักยภาพสูงมากสำหรับงานอีกหลายประเภท แต่ผมขอเริ่มต้นที่เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านก่อนครับ“คุณนพชัยกล่าวทิ้งท้ายไว้เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบและผูู้ประกอบการหัวก้าวหน้าท่านอื่นๆ
อ้างอิง : http://www.tcdcconnect.com/content/blog/?p=2550
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น